ที่มาและความสำคัญ

ในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ปกติ ไม่พึงประสงค์ และต้องการการแก้ไข การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการให้ภาวะดังกล่าวกลับคืนสู่ภาวะปกติหรือลดความสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด ในเวลาอันรวดเร็ว  โดยวัตถุประสงค์หลักในการบริหารจัดการภาวะวิกฤต มี 3 ประการ คือ (1) การป้องกันการเกิดวิกฤต โดยต้องจัดทำแผนล่วงหน้า เพื่อช่วยลดการเกิดความเสียหาย ช่วยให้มีการสื่อสารที่มีประสิทธิผล (2) การกำจัดวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นให้หมดไปโดยเร็วที่สุด และการจำกัดความเสียหาย เพื่อลดความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สิน ลดการขัดขวางการดำเนินงาน และ (3) การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

การสื่อสารในยุคปัจจุบัน เป็นการสื่อสารที่ไร้พรมแดน  โดยนอกจากจะมีการสื่อสารผ่านสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) อาทิ โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ผู้คนยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และสะดวกสบาย ผ่านสื่อใหม่ (New Media) บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทุกคนต่างสามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร เพื่อส่งไปยังผู้รับสารเป้าหมายได้อย่างง่ายดายทั้งแบบตัวต่อตัว และสื่อสารกันเป็นกลุ่มผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) 

ในภาวะวิกฤต จำเป็นต้องมีการจัดการการสื่อสารอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องมีภาระหน้าที่ มีข้อตกลง และมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยต้องมีการวางแผนการสื่อสารผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับช่วงเวลาและกลุ่มเป้าหมาย ทันต่อเหตุการณ์ และมีความถูกต้องเชื่อถือได้ ดังนั้น การสื่อสารในภาวะวิกฤต (Crisis Communication) ในสังคมปัจจุบันนั้น  ข้อมูลที่ส่งผ่านช่องทางต่างๆ ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารมีความสำคัญอย่างยิ่ง ข่าวสารที่ขาดความชัดเจน คลุมเครือ และถูกบิดเบือน กลายเป็นข่าวลวง ข่าวปลอม รวมทั้งข่าวลือ ข้อเสนอแนะ และความเห็นส่วนบุคคลของผู้คนที่ส่งต่อกันเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ  และอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นได้ 

การจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤตมีความสำคัญมาก วิกฤตเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย ดังนั้น หน่วยงานจึงไม่สามารถใช้มาตรการจัดการอย่างที่เคยใช้เป็นประจำได้  ซึ่งเมื่อต้องเผชิญความไม่แน่นอน และภัยคุกคามไปพร้อมกันเช่นนี้ หากไม่สื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน และไม่สามารถต้านทานกระแสข่าวลวง ข่าวปลอมในสังคมออนไลน์ได้ ข้อมูลเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางสังคม (Social Destabilization) ทำให้ประชาชนสับสน ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง เกิดเป็นคำถาม และไม่เชื่อมั่นต่อข้อมูลข่าวสาร 

การที่ผู้คนที่อยู่ในนิเวศสื่อ (Media Ecosystem) จะสามารถใช้สื่อได้อย่างปลอดภัย และไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการสื่อสารที่เกิดขึ้น จำเป็นจะต้องรู้เท่าทันสื่อ ข้อมูลข่าวสาร และดิจิทัล (Media, Information and Digital Literacy: MIDL) ซึ่งเป็นสมรรถนะการสื่อสารด้วยความสามารถในการเข้าถึง  วิเคราะห์ ประเมิน และสื่อสารข้อมูลต่างๆ ที่มาในรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงการมีความเข้าใจผลกระทบของข้อมูลข่าวสารที่มีต่อสังคม ตระหนักถึงความสำคัญ และรับผิดชอบต่อข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ การรู้เท่าทันยังเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สังคม เพื่อให้พลเมืองมีทักษะในการตั้งคำถาม วิพากษ์ วิจารณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ พลเมืองจะสามารถเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์จากผู้ถูกกระทำ (Passive) ในฐานะผู้รับสื่อ มาเป็นผู้กระทำ (Active) ที่สามารถเข้าถึง เข้าใจ สามารถสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และรู้เท่าทันการใช้สื่อ ข้อมูลข่าวสาร และดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

อัตราค่าธรรมเนียมหลักสูตร

ท่านละ 3,990 บาท

วิธีการชำระค่าลงทะเบียน

ชำระโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ (อาคาร บี)
ชื่อบัญชี : สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
เลขที่บัญชี : 955-0-09554-1

ช่องทางติดต่อ

สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร.
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เลขที่ 120 อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 9
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
หมายเลขโทรศัพท์ 02-141-9021 หรือ 08 4241 5996
LINE Official: @igplearn (https://page.line.me/igplearn)
Facebook Page: IGP Learn (https://www.facebook.com/IGPLearn)